ข้ามไปเนื้อหา

มาริอา เด โมลินา สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาริอา เด โมลินา
พระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยาและเลออน
ครองราชย์ค.ศ. 1284 – ค.ศ. 1295
ประสูติค.ศ. 1265
สิ้นพระชนม์1 กรกฎาคม ค.ศ. 1321
ฝังพระศพอารามซันตามาริอาลาเรอัลเดลัสอูเอลกัส
ในบายาโดลิด
พระสวามีพระเจ้าซันโชที่ 4 แห่งกัสติยา
พระราชบุตรอิซาเบลแห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอารากอน
พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 แห่งกัสติยา
เบียตริซแห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส
และคนอื่นๆ
ราชวงศ์บูร์กอญ (ของกัสติยา)
พระบิดาอัลฟอนโซ เด โมลินา
พระมารดามายอร์ อัลฟอนโซ เด เมเนเซส

มาริอา เด โมลินา (สเปน: María de Molina; ค.ศ. 1265–1321) เป็นพระราชินีแห่งกัสติยา โดยทรงเป็นพระมเหสีของพระเจ้าซันโชที่ 4 แห่งกัสติยา ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ผู้เป็นพระราชโอรส และปกป้องบัลลังก์จากผู้ท้าชิงมากมายหลายคนที่ได้รับการหนุนหลังจากฝรั่งเศส, อารากอน, โปรตุเกส, นาวาร์ และกรานาดา หลังพระเจ้าเฟร์นันโดสวรรคตพระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้อนุบาลพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 ผู้เป็นพระราชนัดดา ในระหว่างที่พระประยูรญาติต่างพากันแย่งชิงสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดิน

พระราชินีแห่งกัสติยา

[แก้]
รูปปั้นแกะสลักของพระเจ้าซันโชที่ 4 แห่งกัสติยา

มาริอา เด โมลินามีชื่อเมื่อตอนแรกเกิดว่ามาริอา อัลฟอนโซ เตเยซ เด เมเนเซส ทรงประสูติในปี ค.ศ. 1264 ที่โมลินาเดอารากอน โดยทรงเป็นธิดาของอินฟันเตอัลฟอนโซ เด โมลินา พระราชโอรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน กับมายอร์ อัลฟอนโซ เตเยซ เด เมเนเซส ในปี ค.ศ. 1281 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 ได้ทำข้อตกลงสมรสระหว่างมาริอากับซันโช พระราชโอรสคนที่สองของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา ผู้เป็นทายาทในบัลลังก์กัสติยา ทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน แต่การสมรสของทั้งคู่ไม่ได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับในการสมรสระหว่างญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิด สมเด็จพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 4 จึงกระทำการตัดขาดซันโชจากศาสนา ทำให้อินฟันเตซันโชข่มขู่ว่าจะสังหารคณะทูตผู้เชิญโองการดังกล่าว ภายหลังพระองค์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้สืบทอดตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา

ในช่วงเวลาสิบปี การสมรสระหว่างซันโชกับมาริอาได้ให้กำเนิดทายาทเจ็ดคน คือ

บทบาททางการเมืองของมาริอาเริ่มต้นขึ้นในการปฏิวัติพระราชบิดาของอินฟันเตซันโชในปี ค.ศ. 1282 มาริอาได้พยายามทำให้สองพ่อลูกคืนดีกัน แต่ไม่สามารถห้ามไม่ให้พระราชบิดาตัดขาดและเลิกสาปแช่งซันโชได้ เมื่อกษัตริย์สวรรคตในปี ค.ศ. 1284 ซันโชรีบเข้ารับการสวมมงกุฎเคียงข้างกับมาริอา พระราชินีพยายามครอบงำพระสวามีผู้มีนิสัยหุนหันพลันแล่นจนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ด้วยการทำตัวเป็นคนกลางระหว่างกษัตริย์กับคู่ปรปักษ์หลายคนในพระราชสำนัก

พระราชชนนีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

[แก้]
ภาพมาริอา เด โมลินากำลังนำเสนอพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ผู้เป็นพระราชโอรสต่อสภาขุนนางที่บายาโดลิดในปี ค.ศ. 1295 วาดโดยอันโตนิโอ กิสเบิร์ต เปเรซ ค.ศ. 1863

พระเจ้าซันโชครองราชย์ได้ไม่นานก็สวรรคตในปี ค.ศ. 1295 มาริอากลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้อบรมสั่งสอนพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 พระราชโอรสที่มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษาตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพินัยกรรมของพระเจ้าซันโช

ปีแรกของการสำเร็จราชการเต็มไปด้วยความยากลำบากเมื่อพระนางต้องเผชิญหน้ากับการคิดคดของกลุ่มขุนนางที่ต้องการปลดพระนางออกจากการบริหารบ้านเมือง ทั้งยังประสบปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายในสังคม ข้อกังขาเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของการสมรสระหว่างมาริอากับกษัตริย์คนก่อนซึ่งเป็นการสมรสระหว่างลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปาก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดในกัสติยาและเลออน กลุ่มขุนนางคนสำคัญได้ให้การสนับสนุนอัลฟอนโซ เด ลา เกร์ดา พระราชนัดดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ที่ประกาศตนเป็นทายาทผู้ชอบธรรมตามกฎหมาย ขณะเดียวกันอินฟันเตฆวน พระอนุชาของพระเจ้าซันโชก็ประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งเลออน ดิเอโก เด ฮาโร ผู้ครอบครองบิซกายาได้ให้การสนับสนุนอินฟันเตฆวน มานุเอล พระภาติยะของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ขณะที่ตระกูลเด ลาราซึ่งตามพินัยกรรมของพระเจ้าซันโชได้มอบหมายให้ดูแลพระราชินีและพระราชโอรสมีคู่ต่อกรคืออินฟันเตเอนริเก พระอนุชาของพระเจ้าซันโชที่ 3 ผู้ได้รับเลือกจากราชสำนักให้ทำหน้าที่สำเร็จราชการแผ่นดิน ขณะที่มาริอาได้รับสิทธิ์ในการดูแลพระราชโอรส ผู้ท้าชิงทั้งหลายต่างมองหาการสนับสนุนจากประเทศข้างเคียง พระเจ้าไชเมที่ 2 แห่งอารากอนใช้การสนับสนุนอัลฟอนโซ เด ลา เกร์ดาเป็นข้ออ้างในการผนวกราชอาณาจักรมูร์เซีย มาริอาต้านทานอารากอนไว้ไม่ให้เข้ายึดราชอาณาจักร สงครามกับอารากอนดำเนินต่อไปตลอดช่วงวัยเยาว์ของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4

อีกฝั่งหนึ่ง ฟีลิปผู้รูปงามแห่งฝรั่งเศส กษัตริย์คู่สมรสแห่งนาวาร์ ต้องการได้อาณาเขตที่เคยเป็นของนาวาร์กลับคืนไป ไหวพริบทางการทูตอันยอดเยี่ยมของมาริอาทำให้สามารถสงบศึกกับฟีลิปผู้รูปงามได้ สุดท้ายพระเจ้าดีนิสแห่งโปรตุเกสได้อาศัยสถานการณ์นี้เรียกร้องให้ขีดเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน มาริอาได้ลงนามในสนธิสัญญาที่ทำให้กัสติยาสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งไปแลกกับการที่โปรตุเกสจะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ แก่กลุ่มกบฏ มีการสมรสเพื่อผนึกสันติภาพสองคู่ คือ กองสเติงซาแห่งโปรตุเกสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 และอาฟงซู ทายาทในบัลลังก์โปรตุเกสกับเบียตริซ พระราชธิดาของพระเจ้าซันโชที่ 4 กับมาริอา ในกัสติยามาริอาพยายามแก้ไขปัญหากับกลุ่มขุนนางด้วยสันติวิธี แต่ก็ไม่ดีพอที่จะทำให้การท้าทายอำนาจยุติลง

ความรุนแรงจากกลุ่มขุนนางและการรุกรานจากกองทัพต่างแดนส่งผลให้กัสติยาเสียหายอย่างหนักจนทำให้ท้องพระคลังร่อยหรอ มาริอาพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกเหรียญเงินตราในนามของพระราชโอรส การถอนตัวออกจากการชิงชัยของโปรตุเกสกับฝรั่งเศสและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้กลุ่มกบฏอ่อนกำลังลง กลุ่มผู้สนับสนุนทิ้งอินฟันเตฆวนในปี ค.ศ. 1300 สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอินฟันเตเอนริเกกับตระกูลเด ลาราผู้เป็นคู่อริจากการทำข้อตกลงสมรสนำพาความสงบสุขมาสู่กัสติยา

ในปี ค.ศ. 1301 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 มีโองการให้การสมรสของพระนางกับพระเจ้าซันโชที่ 4 ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการการันตีสิทธิ์ในการขึ้นครองบัลลังก์ของพระราชโอรส ทว่าในปีเดียวกันอินฟันเตฆวน เด ลารา ผู้ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ได้ยุยยงให้กษัตริย์วัย 16 พรรษาต่อต้านพระราชมารดาขึ้นบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง ทว่าไม่นานพระเจ้าเฟร์นันโดก็ถูกพระปิตุลาหักหลัง มาริอาไดกลับมาทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสองฝ่ายเพื่อเอาราชบัลลังก์กลับคืนมาให้พระราชโอรสที่สวรรคตในปี ค.ศ. 1312 โดยที่ยังคงขัดแย้งกับกลุ่มขุนนาง

พระอัยกีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

[แก้]
รูปแกะสลักเหนือหลุมฝังศพของมาริอา เด โมลินาในอารามซันตามาริอาลาเรอัลเดลัสอูเอลกัสในบายาโดลิด

การสวรรคตก่อนวัยอันควรของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ได้เริ่มวงจรความขัดแย้งกลางเมืองอันรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 พระราชโอรสของพระองค์มีพระชนมายุเพียง 1 พรรษา มาริอาจึงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของมาริอาเป็นที่หมายตาของขุนนางหลายคน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1314 พระราชินีได้ำบรรลุข้อตกลงซึ่งกำหนดให้การอบรมสั่งสอนกษัตริย์น้อยเป็นสิทธิ์ร่วมกันระหว่างมาริอากับอินฟันเตเปโดรและอินฟันเตฆวน พระอนุชาและพระปิตุลาของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ตามลำดับ ทว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายปีจนอินฟันเตทั้งสองสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1319 ในการสู้รบครั้งหายนะกับกรานาดา มาริอาจึงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว พระราชินีต้องเผชิญหน้ากับการแย่งชิงสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดินของอินฟันเตฆวน มานุเอล, ฟีลิป, พระอนุชาของพระเจ้าซันโชที่ 4 และฆวน บุตรชายของอินฟันเตฆวนที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1319 พระราชินีรับหน้าที่เป็นคนกลางอีกครั้งที่บายาโดลิด อินฟันเตแต่ละคนได้รับสิทธิ์ในการบริหารปกครองพื้นที่ของตนเอง ไม่กี่วันต่อมามาริอาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1321 ร่างของพระนางถูกฝังในอารามของเมืองดังกล่าว

อ้างอิง

[แก้]